"เตือนภัยเกษตรกร โรคไรขาวพริก และโรคราน้ำค้างในผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด" ขอให้เกษตรกร

วันที่บันทึก 2020-12-28 09:20:00.000 ชื่อผู้บันทึก Chayanan Sira-thawiphong

ขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงเพาะปลูกอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเสียหายของผลผลิตพืช สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็น และมีความชื้นสูงในตอนเช้า อากาศร้อนในตอนกลางวัน  เตือนผู้ปลูกพริก ในระยะ ออกดอก ติดผล เจริญเติบโตทางลำต้น รับมือไรขาวพริก ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ยอด และดอก ทำให้ใบและยอดหงิกงอ ขอบใบม้วนงอลงด้านล่าง ทำให้ใบมีลักษณะเรียวแหลม ก้านใบยาว เปราะหักง่าย อาการขั้นรุนแรงส่วนยอดจะแตกเป็นฝอย ถ้าทำลายดอก กลีบดอกจะบิดแคระแกร็น ชะงักการเกิดดอก หากระบาดรุนแรง ต้นพริกจะแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต มักพบระบาดในช่วงที่มีอากาศชื้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1 สุ่มสำรวจพริกทุกสัปดาห์ หากพบอาการใบหงิกม้วนงอลงที่เกิดจากการทำลายของไรขาวพริก ให้ทำการป้องกันกำจัด

2. เมื่อพบการระบาดใช้สารฆ่าแมลง-ไร ที่มีประสิทธิภาพ เช่น อะมิทราซ 20% EC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 10-20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิจร หรือ ไพริดาเบน 20% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 8 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ

อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ กำมะถัน 80% WP อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นซ้ำตามการระบาด

โรคราน้ำค้าง (เชื้อรา Peronospora parasitica) ในผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด (เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลีผักกาดขาว ผักกาดหัว ผักฮ่องเต้ ผักหางหงษ์ ผักกวางตุ้ง คะน้า เป็นต้น) สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็น และมีความชื้นสูงในตอนเช้า อากาศร้อนในตอนกลางวัน ทำให้มีโอากาสเกิดโรคนี้ได้ง่าย พบโรคนี้ได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช ถ้าเป็นโรคในระยะกล้า ใบเลี้ยงจะเกิดจุดแผลสีน้ำตาลทำให้ลำต้นเน่า หรือแคระแกร็น ถ้าเป็นโรคในระยะต้นโต จะพบอาการเริ่มแรกบริเวณด้านบนใบลักษณะเป็นจุดแผลสีเหลือง หรืออาจเป็นปื้นๆ สีเหลือง ถ้าสภาพอากาศชื้นโดยเฉพาะตอนเช้าเมื่อพลิกดูด้านใต้ใบมักจะพบเส้นใยเชื้อราสีขาว หรือเทาคล้ายปุยฝ้าย ถ้าโรคระบาดรุนแรงแผลจะลามขยายใหญ่ทำให้เนื้อใบเป็นสีน้ำตาล และแห้งตาย


*** ในกะหล่ำดอกและบรอกโคลี ถ้าเชื้อเข้าทำลายรุนแรงก้านดอกจะยืดและดอกอาจจะบิดเบี้ยวเสียรูปทรง

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อสาเหตุโรค โดยแช่ในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส (ต้มน้ำจนเดือดแล้วเติมน้ำลงไป 1 เท่า) นาน 20 – 30 นาที หรือคลุกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ก่อนปลูก

2. ควรปลูกพืชให้มีระยะห่างพอสมควร ไม่เบียดแน่นจนเกินไป

3. เมื่อพบโรคเริ่มระบาด ควรพ่นด้วยสาร เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% +4% WG อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5-7 วัน

4. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรเก็บเศษซากพืชไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก

5. ควรหลีกเลี่ยงการปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาดซ้ำในแปลงเดิม และควรปลูกพืชหมุนเวียน

ที่มา: กรมวิชาการเกษตร http://at.doa.go.th/ew/