"ระวังอาการใบหงิกม้วนในมะเขือเทศเชอร์รี่แดงภายใต้โรงเรือนในช่วงฤดูแล้ง" ใบหงิกม้วน อาจเกิดจากหลายปัจจัย

วันที่บันทึก 2020-03-20 15:30:00.000 ชื่อผู้บันทึก Chayanan Sira-thawiphong

ใบหงิกม้วน อาจเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ โรคไวรัส ธาตุอาหารไม่สมดุล และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาการที่พบ มักพบอาการใบหงิกงอในใบอ่อนหรือส่วนบนใกล้ยอด แต่ใบด้านล่างปกติ ไม่แสดงอาการม้วนงอ

สาเหตุ

1.      เกิดจากไวรัส

2.      เกิดจากได้พืชรับธาตุอาหารไม่เพียงพอหรือไม่สมดุล

3.      เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

การสังเกตลักษณะอาการ

1.    ให้สำรวจและตรวจสอบประชากรแมลงในแปลง เช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน แมลงศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นพาหะนำโรคไวรัส แต่หากไม่พบแมลง ไม่มีร่องรอยการทำลาย และต้นมีความสมบูรณ์ดี ก็ไม่น่าจะใช่โรคไวรัส

2.    หากตรวจสอบต้นมะเขือเทศเชอรี่แดงทั้งลำต้น โดยสังเกตที่ใบ เช่น หากใบด้านล่างหรือใบชุดแรกมีความสมบูรณ์ แล้วใบด้านบน บริเวณใกล้ยอดมีอาการผิดปกติและหงิกม้วน อาจเกิดจากมะเขือเทศเชอรี่แดงได้รับธาตุอาหารบางชนิดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะ โบรอนและแคลเซี่ยม โดยหากได้รับไม่เพียงพอจะทำให้พบอาการบิดม้วนของใบอ่อน

3.    ในช่วงฤดูร้อนและอากาศค่อนข้างแห้ง อาจส่งผลให้ต้นมะเขือเทศมีการปรับตัวต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยแสดงอาการใบหงิกม้วน ทั้งนี้ ให้สังเกตว่ามะเขือเทศเชอร์รี่แดงที่แสดงอาการว่าปลูกในทิศใดหรือบริเวณจุดใดของโรงเรือน

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. คลุมหลังคาด้วยตาข่ายพรางแสง 25-50% ความกว้าง 1 เมตร โดยขึงทิศเหนือใต้ ระยะห่างระหว่างตาข่ายพลางแสงแต่ละผืน 1 เมตร (เว้นช่องเพื่อให้ได้รับแสงโดยตรง)

2. รดน้ำในแปลง ทางเดิน หรือติดหัวพ่นหมอก หรือสปริงเกอร์ฝอยในโรงเรือน เพื่อเพิ่มความชื้น หรือติดสปริงเกอร์บนหลังคาเพื่อลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน หากถ้าวางกระถางบนพลาสติก ให้นำท่อพีวีซี 1 นิ้ว วางใต้พลาสติกตามยาวเพื่อทำเป็นขอบไว้กักน้ำที่ซึมออกมาจากกระถาง

3. ติดตั้งพัดลม เปิดหลังคา เพิ่มการระบายอากาศ (ตรวจสอบแบบโรงเรือนดูก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่)

4. ควบคุมการให้น้ำให้ปุ๋ย ตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ โดยยึดหลักการว่า ฤดูร้อน ให้น้ำน้อยแต่บ่อยครั้ง

5. ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบด้วยธาตุอาหารแคลเซียม โบรอน และแมกนีเซียม โดยพ่นปุ๋ยทางใบอัตราไม่เกินครึ่งหนึ่งของฉลาก 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือ 1/4 ของฉลากทุกๆ 3 วัน (เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เวลาพ่นปุ๋ยแคลเซียมและโบรอนทางใบ ควรผสมกรดฟูลวิค Fulvic acid หรือกรดอะมิโน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนธาตุอาหาร เข้าสู่ใบได้ดีขึ้น) หรือฉีดพ่นปุ๋ยทางใบที่มี หรือปรับสูตรปุ๋ยระบบน้ำโดยเพิ่มธาตุอาหารแคลเซียม โบรอนและแมกนีเซียม เพื่อให้มะเขือเทศได้รับธาตุอาหารที่เหมาะสมและสมดุล

คำแนะนำทางวิชาการด้านพืชผัก:

1.ดร.สรุชาติ วุฒาพาณิชย์ ตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ บริษัท Rugby Farm เครือรัฐออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย

2.นายอิทธิพล โพธิ์ศรี ตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา 4 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)